กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ 2553

              ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2553” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2547 ที่หมดอายุลงเมื่อ 30 กรกฎาคม 2553 ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี คือตั้งแต่ 31 ก.ค. 2553 ถึง 30 ก.ค. 2558 มีเขตพื้นที่ใช้บังคับและการแบ่งบริเวณคงเดิมเหมือนในฉบับ พ.ศ. 2547 แต่มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดในรายละเอียดต่างๆ หลายอย่างพอสรุปในส่วนที่น่าสนใจได้ดังนี้
 พื้นที่ที่ห้ามก่อสร้างใดๆ
                ในประกาศกระทรวงฯฉบับนี้ ได้กำหนดพื้นที่ไว้ 2 บริเวณที่ห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ใดๆ ได้แก่ พื้นที่ในระยะ 6 เมตรจากริมฝั่งแม่น้ำ คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แนวน้ำท่วมหลาก ตามประกาศจังหวัดเพชรบุรีฯ ลงวันที่ 11 ส.ค. 2549 และอีกบริเวณหนึ่งคือ ในระยะ 12 เมตรโดยรอบแนวคันขอบอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
 พื้นที่โดยรอบโบราณสถาน
                ประกาศฯฉบับนี้ กำหนดให้พื้นที่โดยรอบโบราณสถานต่างๆ ในรัศมีโดยรอบ 100 เมตร ให้มีได้ก็แต่เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน  6 เมตร
 การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
                ยังคงห้ามและมีข้อกำหนดยกเว้นเช่นเดิม คือ อนุญาตโรงงานจำพวกที่ 1 และห้ามโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ยกเว้นในบริเวณที่ 4 ซึ่งสามารถทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศฯ ข้อแตกต่างจากประกาศฯฉบับก่อน คือ ในบริเวณที่ 5 แม้จะสร้างโรงงานจำพวกที่ 1 ได้ แต่จำกัดไว้ที่พื้นที่ไม่เกิน 100 ตร.ม.
 50 เมตรแรกจากแนวชายฝั่งทะเล
                นอกจากบริเวณซึ่งวัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดิน 50 เมตรแรกแล้ว พื้นที่ในรัศมี 100 เมตรโดยรอบเขตพระตำหนักห้วยทรายใหญ่ (อยู่ในบริเวณที่ 5) ก็มีข้อกำหนดเช่นเดียวกัน คือ ความสูงอาคารไม่เกิน เมตร และพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน 75 ตร.ม. แต่ในประกาศฯฉบับนี้ได้เพิ่มข้อกำหนดมากขึ้น คือ จะต้องเป็นอาคารเดี่ยว ชั้นเดียว มีระยะห่างระหว่างอาคารแต่ละหลังไม่น้อยกว่า 4 เมตร ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียง ไม่น้อยกว่า เมตร และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาต
 ระยะถัดจาก 50 เมตรแรกไป
                ในระยะถัดไปอีก 150 เมตร คือตั้งแต่ระยะ 50 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเลจนถึงระยะ 200 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเล ข้อกำหนดความสูง 12 เมตรยังคงเดิม และเพิ่มข้อกำหนดพื้นที่อาคารรวม ไม่เกิน  2,000 ตร.ม. ในบริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 5
                ประกาศฯฉบับนี้ยังได้เพิ่มข้อกำหนดสำหรับบริเวณที่ 4 และ 5 ในระยะถัดจาก 200 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเลไปอีกเป็นระยะ 500 เมตรด้วย โดยมีข้อกำหนดความสูงไม่เกิน 23 เมตร และที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
 หลักเกณฑ์การวัดความสูง
                ประกาศฯฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงไว้ชัดเจนขึ้นด้วยเช่นเดียวกับในประกาศฯฉบับอื่นอีก 3 ฉบับที่ออกใช้บังคับพร้อมกัน (กรุณาดูในข่าวประกาศฯของจังหวัดกระบี่)
 การจัดทำ IEE หรือ EIA
                สำหรับประเภทอาคารหรือประเภทโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ในประกาศกำหนดประเภทโครงการที่ได้ออกมากก่อนหน้าแล้ว เช่น กรณี โรงแรมหรือที่พักตากอากาศ หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ก็ได้เพิ่มเกณฑ์พื้นที่ใช้สอยรวมตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 4,000 ตร.ม. สำหรับการต้องจัดทำ IEE และ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป สำหรับการต้องจัดทำ EIA
                สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ กิจการที่มีการนำเอาบ้านพักอาศัย ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว 10-79 หลัง/ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน มาจัดให้บริการในรูปของสถานที่พักลักษณะโรงแรม ก็จะต้องจัดทำ IEE และหากจำนวนหน่วยมากกว่านั้นก็จะต้องจัดทำ EIA