ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2553

                ที่ว่างในบริเวณที่ 2, บริเวณที่ 3, บริเวณที่ 5, บริเวณที่ 6 และบริเวณที่ 8 มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งกลุ่มประเภทอาคารใหม่ จากเดิม ที่แบ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 กับอาคารพาณิช์หรืออาคารอื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในประกาศฯฉบับใหม่แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารสำนักงาน อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะกับ อาคารพาณิชย์ บ้านแถว ห้องแถว ตึกแถวโดยข้อกำหนดที่ว่างของแต่ละกลุ่มประเภทอาคารยังคงเดิม ทั้งนี้ ยกเว้นในเขตพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงควบคุมอาคารออกใช้บังคับ (บริเวณห้ามก่อสร้างฯ) ในบริเวณที่ 2 ก็ยังคงจะต้องจัดให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เช่นเดิม
                ในประกาศฯฉบับเดิมมีการกำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงไว้อยู่แล้ว ข้อแตกต่างคือ ประกาศฯฉบับเดิมกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสำหรับบางบริเวณเท่านั้นและใช้เฉพาะอาคารที่สูงไม่เกิน 23 เมตร แต่ในประกาศฯฉบับนี้ให้ใช้เป็นหลักเกณฑ์การวัดความสูงสำหรับทุกบริเวณและทุกอาคาร กล่าวคือ ให้ถือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเป็นหลัก เว้นแต่กรณีมีการปรับระดับพื้นดินจนเท่ากับหรือสูงกว่าถนนสาธารณะ ก็จะให้วัดจากระดับถนนสาธารณะแทน ส่วนกรณีของการก่อสร้างบนเชิงลาดแนวเชิงเขา ให้วัดที่จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารหลังนั้น การวัดความสูงจะวัดจนถึงจุดที่สูงที่สุดของอาคาร เว้นแต่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาก็ให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
                สำหรับประเภทอาคารหรือประเภทโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ในประกาศกำหนดประเภทโครงการที่ได้ออกมากก่อนหน้าแล้ว เช่น กรณี โรงแรมหรือที่พักตากอากาศ หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ก็ได้เพิ่มเกณฑ์พื้นที่ใช้สอยรวมตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 4,000 ตร.ม. สำหรับการต้องจัดทำ IEE และ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป สำหรับการต้องจัดทำ EIA, การจัดสรรที่ดิน ผ่อนคลายลงจากเกณฑ์ไม่เกิน 99 แปลงหรือต่ำกว่า 19 ไร่ จะต้องจัดทำ IEE เป็นไม่เกิน 250 แปลงหรือต่ำกว่า 100 ไร่ หากเกินกว่านี้ก็ต้องจัดทำ EIA