ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม

          ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมมีหลายคน ถ้าไม่มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น หากผู้จัดการมรดกบางคนถึงแก่กรรม ผู้จัดการมรดกที่เหลือชอบที่จะจัดการต่อไปได้ เช่น มี นาย ก.และนาย ข.เป็นผู้จัดการมรดก ถ้าพินัยกรรมมิได้กำหนดว่า ถ้านาย ก. หรือนาย ข. คนหนึ่งคนใดถึงแก่กรรมไปจะต้องตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทนเช่นนี้ ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ก็สามารถจะจัดการต่อไปได้ ไม่ว่าจะได้มีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วหรือไม่ก็ตาม (มาตรา ๑๗๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
          ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม บางครั้งก็ไปขอให้ศาลตั้งอีก ถ้าศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรม หากผู้จัดการมรดกบางคนถึงแก่กรรมไป ผู้จัดการมรดกที่เหลือก็ชอบที่จะจัดการต่อไปได้เช่นเดียวกับผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมที่ศาลมิได้มีคำสั่งตั้ง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก โดยมีข้อกำหนดในพินัยกรรมไว้ว่าในการจัดการมรดกนั้นให้ผู้จัดการมรดกจัดการร่วมกัน แม้ต่อมาจะได้มีคำสั่งศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกจึงต้องเป็นไปตามพินัยกรรม กล่าวคือต้องร่วมกันจัดการมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกบางคนได้ถึงแก่กรรมไปก่อนการจัดการมรดกจะแล้วเสร็จ ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการมรดกต่อไป ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่๑๘๔๐/๒๕๓๔ (ข้อ ๔๗ ของระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ..๒๕๔๘)
           ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม จะมีอำนาจจัดการทรัพย์นอกพินัยกรรมได้หรือไม่ ก็ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดของพินัยกรรมนั้น คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๐/๒๕๑๙ พินัยกรรมระบุว่า "ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมนี้แก่………………..และขอตั้งให้…………………………เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้และให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ" ตามข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกได้โดยทั่วไป แม้จะเป็นทรัพย์มรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรม

ที่มา  กรมที่ดิน