การขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล

           ผู้ขอจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก คือ คำสั่งศาล ไปยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ หรือจะยื่นที่งานจดทะเบียนต่างพื้นที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานที่ดินแห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้ ซึ่งการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกได้โดยไม่ต้องประกาศ ขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล กฎหมายมิได้กำหนดให้มีการคัดค้านได้ อย่างเช่นการขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม
            ดังนั้น เมื่อมีผู้มาขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกเดียวกัน โดยคนหนึ่งขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ซึ่งตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ขออ้างว่า เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกให้แก่ ผู้ขอที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เพราะตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงก็ต้องถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้จัดการมรดกอยู่ ส่วนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ควรขออายัดแล้วไปดำเนินการทางศาลต่อไป
           ตัวอย่าง   ศาลได้มีคำสั่งตั้งให้ นาย ก. เป็นผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ต่อมา นาย ข. ได้ไปขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกโดย นาย ข. ไม่ทราบว่ามรดกรายนี้ได้มีคำสั่งศาลตั้ง นาย ก. เป็น ผู้จัดการมรดกไว้และศาลได้มีคำสั่งตั้ง นาย ข. เป็นผู้จัดการมรดกอีกกรณีเช่นนี้ศาลยังมิได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นก็ต้องถือว่าทั้งนาย ก. และ นาย ข. เป็นผู้จัดการมรดกด้วยกัน ในทางปฏิบัติถ้าผู้จัดการมรดกทั้งสองคนตกลงกันได้ โดยขอจดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกด้วยกันพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะจดทะเบียนให้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลทั้งสองไม่อาจตกลงกันได้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการทางศาลกันต่อไป